มะพร้าวเปลือกหวาน...มะพร้าวชนิดเดียวในโลกที่กินเปลือกได้

นักวิชาการห่วงมะพร้าวพันธุ์ไทยโบราณเสี่ยงสูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ยื่นขอทุนสภาวิจัยฯ ศึกษา-รวบรวมพันธุ์มะพร้าวหายากเช่น มะพร้าวเปลือกหวาน...มะพร้าวชนิดเดียวในโลกที่กินเปลือกได้


 

ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย
เปิดเผยว่า ปัจจุบันมะพร้าวพันธุ์ไทยโบราณเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ 
เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่ไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจ ประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของมะพร้าว ตัดโค่นต้นมะพร้าวไปปลูกพืชอื่นที่ทำรายได้มากกว่า ที่ผ่านมา 

ตนได้รวบรวมพันธุ์มะพร้าวโบราณหายากอย่างละ 1 สายพันธุ์ไปปลูกในอนุรักษ์ ในอุทยาน ร.2 แต่เนื่องจากมีการปลูกต้นมะพร้าวร่วมกับพืชอื่น จนเกิดร่มเงาทำให้ต้นมะพร้าวไม่โต ขณะนี้ตนกำลังมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับปลูกอนุรักษ์มะพร้าวพันธุ์ไทยโบราณจำนวน 125 พันธุ์ที่เก็บรวบรวมขึ้นใหม่ เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางศึกษาและรวบรวมสายพันธุ์มะพร้าวของไทย แต่เนื่องจาก นักวิจัยจำนวนมากเกษียณอายุราชการทำให้ขาดช่วงส่งมอบความรู้แก่นักวิจัยรุ่นหลัง ประกอบกับ เจอปัญหาภัยธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เหลือ มะพร้าวพันธุ์ไทยโบราณ และต่างประเทศ ที่รวบรวมอยู่ในศูนย์ฯ แห่งนี้เหลือประมาณ 50 สายพันธุ์เท่านั้น




นางสาวทิพยา ไกรทอง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ที่ดูแลสายงานการอนุรักษ์สายพันธุ์มะพร้าว เปิดเผยว่า มะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มะพร้าวต้นสูง นิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยนำเนื้อมะพร้าวแก่มาแปรรูปเป็นน้ำกะทิจำหน่ายทั่วโลก และ มะพร้าวต้นเตี้ย ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกระทิ ประเทศไทย ถือเป็นแหล่งกำเนิดมะพร้าวที่มีความหลากหลายสายพันธุ์ ให้เลือกรับประทาน แต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์เด่นที่แตกต่างกันออกไป สำหรับสายพันธุ์มะพร้าวที่ให้ปริมาณน้ำตาลสดมาก ได้แก่ พันธุ์สาริชา พันธุ์สายบัว และพันธุ์ทะเลบ้า นิยมปลูกกันมากในจังหวัดสมุทรสงครามที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลมะพร้าว



ประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายทางสายพันธุ์มะพร้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่มะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยส่วนใหญ่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก จึงเตรียมยื่นขอทุนจากสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อศึกษาและรวบรวมสายพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ไทยที่หายากมารวบรวมไว้ในศูนย์ฯ แห่งนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินงานประมาณ 5 ปีตั้งแต่ปี 2559-2563 สำหรับมะพร้าวพันธุ์ไทยหายากที่เตรียมจัดหามาปลูกอนุรักษ์สายพันธุ์ ในศูนย์วิจัยพืชสวนแห่งนี้ได้แก่ มะพร้าวพันธุ์พวงร้อย มะพร้าวกะโหลก มะพร้าวหมูสี มะพร้าวไฟ มะพร้าวนาฬิเก มะพร้าวซอ และมะพร้าวเปลือกหวาน ฯลฯ




สำหรับ “ มะพร้าวเปลือกหวาน ” มีลักษณะเด่นพิเศษไม่เหมือนใครเพราะเป็นมะพร้าวชนิดเดียวในโลกที่กินเปลือกได้ นางสาวทิพยาเปิดเผยว่า มะพร้าวเปลือกหวานอยู่ในกลุ่มมะพร้าวต้นสูง มีสะโพก รูปร่างขนาดของผลเหมือนมะพร้าวกลางและมะพร้าวใหญ่ โดยผลมีขนาดขนาดกลางถึงผลใหญ่ค่อนข้างกลม ผลอ่อนเปลือกบริเวณตามีสีขาว มีรสชาติคล้ายมันแกว เปลือกของผลแก่มีสีเทาอ่อนและมีเส้นใยนุ่ม แตกต่างจากมะพร้าวทั่วไปที่มีเส้นใยหยาบแข็ง มีสีน้ำตาล
ด้านนายอนุชิต พรหมชาติ เกษตรกรนักอนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทยโบราณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มะพร้าว " เปลือกหวาน " เป็นมะพร้าวสายพันธุ์เก่าแก่หายากในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และราชบุรี คาดว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีมะพร้าวพันธุ์นี้ไม่เกิน 500 ต้น ชาวบ้านนิยมนำผลอ่อนตั้งแต่ยังไม่มีเนื้อมะพร้าว ขนาดเท่ากำปั้นมาทานเปลือกเล่นๆ ในยามว่าง โดยปาดจุกออก ค่อยๆ ลอกเปลือกออกแล้ว เฉาะกินเหมือนมันแกว จุดที่อร่อยที่สุดคือ ส่วนหัวเพราะมีรสหวาน มัน กรอบกว่าส่วนอื่นๆ เวลาทานจะได้รสชาติอ่อนนุ่มเหมือนเคี้ยวเนื้อมันแกว นอกจากนี้ยังนิยมนำส่วนที่เป็นเปลือกหวานไปปรุงอาหารโดยผัดร่วมกับหมูกุ้งจะได้เมนูอาหารจานเด็ดที่มีรสชาติอร่อยมาก สำหรับมะพร้าวสายพันธุ์ทั่วไป แม้จะมีลักษณะผลเปลือกอ่อนเช่นกัน แต่ไม่สามารถนำมากินได้เพราะเปลือกมีรสชาติฝาดขม และมีเสี้ยนแข็ง





“ ทุกวันนี้ ชาวบ้านในแถบจังหวัดสมุทรสงครามปลูกอนุรักษ์สายพันธุ์มะพร้าวเปลือกหวานแค่ครัวเรือนละ 1-2 ต้นเท่านั้น โดยชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเก็บผลอ่อนไว้กินภายในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ผลอ่อนของมะพร้าวเปลือกหวานมักถูกกระรอกเจาะทำลาย ทำให้มะพร้าวพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีผลแก่ไว้ขยายทำพันธุ์สักเท่าไหร่ ในระยะ 10 ปีหลัง มะพร้าวเปลือกหวานเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หลายคนที่มีโอกาสชิมมะพร้าวเปลือกหวานมักติดใจในรสชาติความอร่อย จึงสนใจอยากซื้อพันธุ์เก็บไว้ปลูก ทำให้ราคาซื้อขายพันธุ์มะพร้าวเปลือกหวานพุ่งสูงถึงต้นละ 400 บาท ขณะที่มะพร้าวหายากพันธุ์อื่นๆ เช่น มะพร้าวนาฬิเก สามารถหาซื้อพันธุ์ได้ในราคาต้นละ 100-200 บาทเท่านั้น ” นายอนุชิตกล่าวในที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องมะพร้าวเปลือกหวาน และมะพร้าวพันธุ์ไทยโบราณหายากเหล่านี้สามารถแวะชมความแปลกมหัศจรรย์พรรณพืชดังกล่าวได้ในงาน “ 27 ปี เทคโนโลยีชาวบ้านมหัศจรรย์พรรณพืชทั่วไทย” ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ระหว่าง วันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2557

กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการ เสวนาความรู้ด้านการเกษตร ห้องอบรมอาชีพ สินค้าโอท็อป บูธจำหน่ายไม้ดอก ไม้ประดับ เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร ตลอดจนการประกาศผลเกษตรกรดีเด่นแห่งปี(Farmers of the Year) และไฮไลต์ของงานคือการเปิดตัวโฉมใหม่ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นิทรรศการเด่นในงาน เริ่มจาก “27 พรรณไม้น่าปลูก” โดยทีมงานได้คัดสรรพืชเด่นที่เป็นประโยชน์กับครอบครัวคนไทยและสามารถปลูกได้ไม่ยากมาจัดแสดง ตัวอย่าง เช่น

สมุนไพรหายากและคุณค่าสูง อย่าง “ต้นลูกเขยตายแม่ยายปก” ทางด้านไม้ผล ก็เช่น พันธุ์ขนุนที่ปลูกปีเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ รวมทั้งพืชผักอีกหลายชนิด นอกจากจะได้ชมของจริงแล้ว ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือคู่มือ “27 พรรณไม้น่าปลูก” เพื่อแจกฟรีให้กับผู้เข้าร่วมชมงานด้วย โดยพิมพ์จำนวนจำกัดแค่ 1,000 เล่มเท่านั้น นิทรรศการต่อมาคือ พรรณพืชมหัศจรรย์ทั่วไทย เป็นการรวมของแปลกหายากในฤดูกาลมาให้ชม อย่างเช่น มะขามเนื้อสีแดง ที่แปรรูปเป็นน้ำแล้วได้สีสวย วิตามินซีสูง กล้วยเครือเดียวออกปลี เป็น 100 ปลี ส่วนนิทรรศการสุดท้ายที่เหมาะสำหรับครอบครัวพาสมาชิกไปเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้คือ สวนพฤกษสัตว์ ที่รวบรวมเอาพืชชื่อสัตว์หรือพืชที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายสัตว์มาจัดให้ชม เช่น ว่านค้างคาวเขียว ค้างคาวดำ ไก่ฟ้า

ดูรายละเอียดและของจริงได้ในงาน 27 ปีเทคโนโลยีชาวบ้านมหัศจรรย์พรรณพืชทั่วไทย วันที่ 6-9 พ.ย. เวลา 10.00- 20.00 น. ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ที่มา khaosod
Share on Google Plus

About แบ่งปันสาระ

แบ่งปันสาระ แหล่งรวมข่าวสาร,บันเทิง,สาระน่ารู้,Life Style , สุขภาพ,โรคภัย,สมนไพร,
    Facebook
    Blogger Comment